สอบสัมภาษณ์ มหาลัย Chula

9 คำถาม ยอดฮิต สอบสัมภาษณ์ เข้ามหาวิทยาลัย

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในแต่ละที่นั้น ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากเรียกได้ว่าตั้งใจอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีหลายองค์ประกอบร่วมด้วย ดังนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะว่ามีการสอบหลายขั้นตอนมาก ทั้งสอบข้อเขียน O-NET Admission ใช้คะแนนจากการสอบ GAT/PAT 9 วิชาสามัญ และด่านสุดท้ายก็คือ “สอบสัมภาษณ์” ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดแล้วว่าเราได้เรียนต่อที่นี้หรือไม่ ดังนั้นทางพี่ ๆ ChulaGradeupTutor ขอแนะนำคำถามยอดฮิตที่มักเจอตอนสอบสัมภาษณ์ มีคำถามใดบ้าง ตามมาดูกันได้เลย…

9 คำถาม ยอดฮิต สำหรับสอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัย

1. การแนะนำตัวเอง

การที่คณะกรรมการถามคำถามนี้ ไม่ใช่ว่าอยากรู้ข้อมูลส่วนตัวของน้อง ๆ  เพราะอย่าลืมว่า กรรมการสัมภาษณ์ย่อมมีประวัติส่วนตัวของน้อง ๆ โดยละเอียดอยู่แล้ว ดังนั้น คำถามนี้จึงเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ทำคะแนนสร้างความประทับใจแรกแก่กรรมการ และยังเหมือนเป็นการละลายพฤฒิกรรมให้น้อง ๆ ได้ผ่อนคลายกับคำถามต่อ ๆ ไปอีกด้วย

คำตอบ : สำหรับข้อนี้ ไม่มีอะไรแนะนำคุณมาก นอกจากน้อง ๆ ต้องมี “สติ” เพราะถ้าคำถามแรกน้อง ๆ ตอบอย่างมีสติ รับรองว่าคำถามต่อ ๆ ไปผ่านฉลุยแน่นอน

2. ทำไมถึงเลือกเรียนคณะ/สาขานี้

เป็นคำถามมักจะต้องเจอ เพราะกว่า 50% ของคณะกรรมการจะตัดสินในใจว่าน้อง ๆ เหมาะหรือไม่กับการเรียนคณะนี้ และยังเป็นคำถามที่ชี้วัดชะตากรรมของคำถามต่อไปเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าน้อง ๆ ตอบดีเข้าตากรรมการ คำถามต่อไปก็ง่ายขึ้นเรื่อย ๆ

คำตอบ : เชื่อว่าหลายคนที่เจอคำถามนี้ ก็ต้องตอบว่า “ชอบคณะนี้ อยากเรียนสาขานี้มานานแล้วครับ/ค่ะ” ซึ่งคำตอบแบบนี้ถือว่าเฉย ๆ มาก เพราะถือว่าเป็นคำตอบที่สั้นเกินไป กรรมการจะไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับคำตอบของน้อง ๆ เลยจนกว่าน้อง ๆ จะมีการอธิบายมากกว่าคำว่า ชอบ หรือ อยากเรียน เช่น ฝันอยากหมอมาตั้งแต่เด็ก เพราะ การเป็นหมอถือเป็นการได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว ยังสามารถให้รายได้ที่สามารถมาดูแลครอบครัวได้ด้วย ดังนั้นจึงเลือกเรียนคณะ/สาขานี้ เป็นต้น

3. รู้หรือไม่ว่าคณะ/สาขานี้เรียนอะไรบ้าง?

คำถามนี้เป็นการทดสอบว่าน้อง ๆ หาความรู้เกี่ยวกับคณะที่จะเข้ามาศึกษามากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงไม่ควรตอบแบบผิวเผิน เช่น ไม่ทราบ เพราะถ้าตอบแบบนั้นก็เตรียมรอสอบที่ใหม่ได้เลย ทางกรรมการอาจถือว่าน้อง ๆ ไม่ได้ตั้งใจอย่างมาเรียนอยู่แล้ว

คำตอบ : สำหรับข้อนี้น้อง ๆ ควรจะตอบเท่าที่เรามีข้อมูล เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นคณะที่มีการเรียนการสอนหลากหลาย ซึ่งนอกจากเน้นการคำนวณทางคณิตศาสตร์แล้ว ยังมีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติงานกับชิ้นงานจริง รวมไปถึงความรู้ต่าง ๆ ที่เราสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้จริงอีกด้วย เรียกได้ว่ารู้อะไรเกี่ยวกับคณะนี้ให้ตอบออกไปให้หมดเลยก็ว่าได้

4. เรียนหนักนะ จะไหวเหรอ?

เป็นคำถามสั้นๆ แต่ได้ใจความ เพราะเป็นเหมือนการเช็คความมั่นใจของน้อง ๆ ไปในตัว แต่อย่าไปคิดมาก ให้ตอบแบบมั่นใจเข้าไว้ว่าเราทำได้

คำตอบ : ไหวแน่นอนครับ/ค่ะ เพราะถ้าได้เข้าคณะที่ฝันมานาน คิดว่าคงไม่มีอะไรยากไปกว่านี้แล้วครับ/ค่ะ ไม่ควรยิ้มแหย่ ๆ หรือเกาหัวแก๊ก ๆ เป็นอันขาด

สอบสัมภาษณ์ Chula TCAS

5. แล้วถ้าไม่ได้ที่นี่จะทำยังไง

เมื่อได้ยินคำถามนี้ ขอย้ำคำว่า “สติ” อีกครั้ง เพราะคณะกรรมการเพียงแค่ดูไหวพริบและความคิด หลังจากได้รับแรงกดดันเท่านั้น ไม่ควรตอบว่า “ไม่ทราบ” เป็นอันขาด

คำตอบ : ให้ย้ำความตั้งใจที่จะเข้าคณะนี้อีกครั้ง โดยอาจจะตอบว่าจะรอรอบสัมภาษณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นการย้ำว่าคุณต้องการเข้าศึกษาต่อคณะนี้จริงๆ

6. ถามเกี่ยวกับกิจกรรมที่เคยเข้าร่วม

คำถามนี้ไม่ใช่การชวนคุย แต่เป็นคำถามที่จะดูว่าน้อง ๆ ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์หรือเปล่า และกิจกรรมที่น้อง ๆ เคยทำสอดคล้องกับคณะที่จะเรียนมากน้อยเพียงใด

คำตอบ : ข้อนี้น้อง ๆ อาจจะตอบเกี่ยวกับกิจกรรมที่สอดคล้องกับคณะที่จะเข้าก็ได้ หรือถ้าน้อง ๆ จะตอบแบบตรงไปตรงมา ก็อธิบายเพิ่มเติมไปว่า เพราะอะไรถึงเข้าร่วมและกิจกรรมที่ทำมีประโยชน์อะไรบ้าง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะทำกิจกรรมที่ตรงกับอาชีพหรือคณะที่เรียน ขนาดหมอยังไปเตะบอล ทั้งที่ไม่ได้จบคณะพละศึกษาสักหน่อย

7. ข้อดี/ข้อเสียของเราคืออะไร

แน่นอนว่าหลายคนย่อมมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ข้อดีของเรานั่นดีต่อคนอื่นหรือเปล่านั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง บางคนอาจตอบอย่างมั่นใจว่า “ไม่มี” แต่น้อง ๆ อย่าลืมคิดไปว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ดีพร้อมไปหมดทุกอย่างหรอกนะ และคนที่รู้ข้อเสียของตนเองก็ดูเป็นคนน่าคบหามากกว่าคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีข้อเสียอะไร

คำตอบ : ให้คุณตอบไปเลยอย่างมั่นใจว่าคุณมีข้อดีอะไรบ้าง แต่อย่าลืมที่จะเติมท้ายไปว่า ข้อดีของคุณดีต่อคนอื่นอย่างไรด้วยนะ ในเรื่องของข้อเสียน้อง ๆ ควรตอบข้อเสียออกไปเลยอย่างมั่นใจ แต่อย่าลืมที่จะบอกวิธีแก้ไขข้อเสียของน้อง ๆ เข้าไปด้วย เช่น เป็นคนไม่รอบคอบ แต่ก็พยายามทวนสิ่งที่ต้องทำหรือสิ่งที่สำคัญทุกครั้งก่อนไปทำอย่างอื่นครับ/ค่ะ คำตอบแนวนี้จะช่วยให้เขาคิดว่า น้อง ๆ เป็นคนยอมรับในข้อผิดพลาดของตัวเอง และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ

8. ถามการเดินทางมาเรียนเป็นอย่างไร

หลายคนอาจมองว่าเป็นคำถามไร้สาระ แต่เชื่อหรือไม่ว่าระยะการเดินทางมาเรียน ถือเป็นสาเหตุหลักให้รุ่นพี่ของน้อง ๆ โดนรีไทล์มาแล้ว ดังนั้นก่อนตอบต้องคิดให้ดีและตอบอย่างมั่นใจ

คำตอบ : ให้น้อง ๆ ตอบไปตามความจริง เพราะอย่าลืมว่า กรรมการมีที่อยู่ของเราอยู่ในมือ ซึ่งถ้าหากน้อง ๆ พักอยู่ไกลก็ให้ตอบไปเลยว่าไกล แต่จะพยายามออกเดินทางให้เร็วขึ้น เราอาจจะเล่าแผนการเดินทางมาเรียนให้เขาฟังก็ได้ หรือเสริมท้ายไปว่า หากได้เข้าเรียนคณะนี้แล้วระยะทางเป็นอุปสรรคต่อการเรียนจริง ๆ อาจจะหาที่พักที่เดินทางสะดวกครับ/ค่ะ

9. มีข้อมูลสอบถามเพิ่มเติมหรือไม่

คำถามนี้ไม่ใช่คำถามเล่นๆ อย่างแน่นอน เพราะหลายคนที่กำลังนั่งสัมภาษณ์อยู่ คงมีคำถามมากมายอยู่ในหัว อาจจะเกี่ยวกับกำหนดการประกาศผลสอบสัมภาษณ์ หรือขอคำแนะนำในการเตรียมตัวเมื่อรู้ผลก็ได้

คำตอบ : ข้อนี้ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ขอแนะนำว่า ให้น้อง ๆ ถามข้อสงสัยที่มีอยู่ออกไปทั้งหมด แต่ต้องเป็นคำถามที่เข้าท่าหน่อยนะ เช่น ถ้าไม่ผ่านจริง ๆ ทางคณะมีแนวทางการช่วยเหลืออะไรบ้าง เป็นต้น แต่อย่าเงียบหรือตอบว่า “ไม่มี” เพราะเราจะดูเป็นคนไม่มีความใส่ใจไปเลยทันที

คำถามทั้ง 9 ข้อนี้ เป็นเพียงคำถามเบื้องต้นที่ทางพี่ ๆ ChulaGradeupTutor ได้เคยพบเจอมา หากใครมีคำถามอื่น ๆ เพิ่มเติม สามารถแบ่งปันให้กับเพื่อน ๆ ได้ที่ Comment ด้านล่าง หรือถ้าต้องการอ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม คลิกที่นี่

FB Fanpage : @Chula Gradeup Tutor

Line ID : https://line.me/R/ti/p/%40wud8208i

Scroll to top