ผีอำ ติวเตอร์ ครูสอนพิเศษ

“ผีอำ” มีจริงมั้ย? หรือเป็นแค่อาการ “Sleep Paralysis”

วันนี้ทาง Chula Gradeup Tutor จะขอนำเรื่องลึกลับมาแบ่งปันน้อง ๆ ในช่วงวันหยุดกันบ้าง นั่นก็คือเรื่อง “ผีอำ” ซึ่งน้อง ๆ คงเคยสงสัยกันว่า มันมีจริงหรือไม่ ? แล้วอาการแบบไหนที่เรียกว่าอาการ “ผีอำ” แล้ว ผีอำมันเป็นอย่างไร ? มันก็คือ อาการที่เกิดขึ้นระหว่างเรากำลังหลับ หรือ เพิ่งตื่น ซึ่งรู้ตัวแล้วนะ แต่พบว่าตัวเองไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกาย หรือ เปล่งเสียงพูดได้ ซ้ำร้ายในบางคนอาจหายใจลำบากเหมือนหน้าอกถูกกดทับ แล้วยังรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่าง อยู่ในห้องให้เป็นที่ทำให้เราหวาดกลัวอีก เพราะมันน่ากลัวแบบนี้แหละ คนถึงเรียกอาการนี้ว่า “ผีอำ” แต่รู้ไหมว่าจริง ๆ แล้วอาจไม่เกี่ยวกับผีสางเลยก็ได้ เพราะทางวิทยาศาสตร์เขาอธิบายไว้ว่า อาการที่เกิดขึ้นนี้ เรียกว่าอาการ “Sleep Paralysis” มาตามดูรายละเอียดกันต่อได้เลย …

ผีอำ ติวเตอร์ เรื่องผี

“ผีอำ” มีจริงมั้ย? หรือเป็นแค่อาการ “Sleep Paralysis” !?

ก่อนจะไปรู้จักกับ Sleep Paralysis ขอแนะนำน้องๆ ให้รู้จักกับ REM sleep นั่นก็คือ วงจรการนอนหลับที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ หยุดทำงาน (ยกเว้นหัวใจ กระบังลม กล้ามเนื้อตา และกล้ามเนื้อเรียบ) เพื่อป้องกันอันตรายจากร่างกายเราในเวลาหลับ เช่น เวลาฝันแบบบู๊ระห่ำ เราก็จะได้ไม่ฟาดแขนฟาดขา ดิ้นตกเตียงยังไงล่ะ!

แน่นอนว่าปกติแล้วฮอร์โมนตัวนี้จะทำงานระหว่างที่เราหลับ และหยุดการทำงานเมื่อเราตื่น แต่เหตุสุดวิสัยย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะในบางครั้งฮอร์โมนตัวนี้ก็ไม่ยอมทำงานตอนที่เราหลับ ทำให้ละเมอ นอนดิ้นตกเตียง และในบางครั้งก็อุตริทำงานตอนที่เราตื่น กลายเป็นว่าลืมตาแล้ว แต่ยังขยับร่างกายไม่ได้ กลายเป็นสาเหตุของอาการ ผีอำ หรือ Sleep Paralysis ที่เราพบเจอกันนั่นเอง
ส่วนสาเหตุที่ทำให้วงจร REM sleep ของเราทำงานผิดพลาดจนเกิดอาการ Sleep Paralysis นั้น แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดในวงการแพทย์ แต่ก็พอจะสรุปได้ว่า

ผีอำ Sleep ภาษาอังกฤษ

คนที่มีอาการ Sleep Paralysis มักเป็นกลุ่มคนดังนี้

  • กลุ่มคนที่ชอบนอนหงาย
  • กลุ่มคนที่ครอบครัวมีประวัติเป็น Sleep Paralysis
  • กลุ่มคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะจากการอดนอน หรือ นอนไม่หลับ
  • กลุ่มคนนอนไม่เป็นเวลา เช่น คนที่ทำงานเป็นกะ หรือคนที่มีอาการ Jet lag
  • กลุ่มคนที่เป็นโรค “ลมหลับ” หรือโรคที่มีอาการง่วงนอนตลอดเวลา จนในบางครั้งอาจผล็อยหลับในช่วงเวลาต่าง ๆ อย่างผิดปกติ (เช่น ยืนๆ แล้วหลับไปเอง)

ในเมื่อมันเป็นความผิดปกติทางร่างกาย แล้วเราเป็นถึงระดับไหนแล้วถึง ควรไปปรึกษาแพทย์?

ก่อนอื่นน้อง ๆ ต้องเข้าใจก่อนว่า Sleep Paralysis เป็นความผิดปกติทางร่างกาย ที่นาน ๆ ครั้งจะเกิดขึ้น หลายคนเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวในชีวิต หลายคนเว้นระยะเวลานานมาก ๆ ๆ ๆ กว่าจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง ดังนั้นใครที่มีอาการ Sleep Paralysis บ่อย ๆ จึงควรปรึกษาแพทย์ รวมถึงคนที่เจออาการ Sleep Paralysis แล้วทำให้หวาดกลัวการนอนหลับ จนพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ อ่อนเพลียระหว่างวัน จนกลายเป็นโรค “ลมหลับ” ก็ควรเข้าพบเพื่อปรึกษาแพทย์เช่นกัน

แต่เบื้องต้นแล้ว หากไม่อยากพบเจออาการผีอำ หรือ Sleep Paralysis ก็ควรดูแลรักษาตัวเองตามนี้

  • – นอน และ ตื่นให้เป็นเวลา
  • – นอนให้เพียงพอ ประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • – หลีกเลี่ยงการกินอาหารมื้อใหญ่ๆ, สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน
  • – ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายในช่วง 4 ชั่วโมงก่อนนอน
  • – ปรับห้องนอนให้เหมาะสมแก่การนอน คือ ไม่มีแสง เงียบสงบ และไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป

Sleep ภาษาอังกฤษ ตัวต่อตัว

ทาง Chula Gradeup Tutor หวังว่าค่ำคืนนี้ น้อง ๆ คงจะรู้สึกกลัวอาการ “ผีอำ” น้อยลง เพราะจริง ๆ แล้วในแง่วิทยาศาสตร์ ก็คือความผิดปกติของร่างกายอย่างหนึ่ง ที่ไม่มีอันตรายอะไร แค่อาจจะทำให้เราตกใจเท่านั้นเอง หากน้อง ๆ คนไหนมีประสบการณ์อื่น ๆ เพิ่มเติมสามารถเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังได้ที่ Comment ด้านล่าง หรือถ้าต้องการอ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม คลิกที่นี่

FB Fan Page : @Chula Gradeup Tutor

Line ID : https://line.me/R/ti/p/%40wud8208i

Scroll to top