คำราชาศัพท์ เทคนิคการจำ

คำราชาศัพท์ ที่มักออกข้อสอบ และ เทคนิคการจำ

วันนี้ทาง ChulaGradeupTutor มีความรู้เกี่ยวกับ “คำราชาศัพท์” โดยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 อธิบายไว้ว่า “ราชาศัพท์” เป็นคำนาม หมายถึง คำที่ใช้กราบบังคมทูล ซึ่งก็คือ คำศัพท์ หรือ ถ้อยคำ สำหรับกราบบังคมทูลพระราชา แต่การเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยจะหมายรวมถึง ถ้อยคำที่ใช้เหมาะสมถูกต้อง ตามฐานะของบุคคล ซึ่งได้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ (เจ้านาย) พระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการ รวมถึงสุภาพชน โดยคำราชาศัพท์ที่มักออกข้อสอบ สำหรับน้อง ๆ ม.ปลาย โดยเฉพาะน้อง ๆ ม.6 ที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ น้อง ๆ ที่กำลังเตรียมสอบในโรงเรียน หรือ แค่ต้องการหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งในเนื้อหาวิชาภาษาไทย ระดับมัธยมปลายนั้น เรื่องที่ออกข้อสอบทั้ง O-NET และ 9 วิชาสามัญ เรียกได้ว่า ออกทุกปี และ มักทำให้น้อง ๆ พลาดคะแนนไปอย่างน่าเสียดาย นั่นก็คือ “คำราชาศัพท์” ซึ่งทาง ChulaGradeupTutor ได้รวบรวม คำราชาศัพท์ที่มักออกข้อสอบ และ สรุปเทคนิคการจำ มาฝากน้อง ๆ กัน มีเทคนิคใดบ้าง ตามมาดูกันได้เลย …

คำราชาศัพท์ ที่มักออกข้อสอบ และ เทคนิคการจำ

1. การใช้คำว่า “ทรง”

  • “ทรง” ใช้เติมหน้าคำกริยาสามัญ เพื่อเป็นคำกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงวิ่ง ทรงทราบ ฯลฯ
  • “ทรง” ใช้เติมลงข้างหน้าคำนามสามัญ เพื่อให้เป็นคำกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงม้า ทรงดนตรี ฯลฯ
  • “ทรง” ห้ามตามด้วยคำกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงเสด็จ ทรงโปรด ทรงเสวย ทรงบรรทม ฯลฯ

2. การใช้คำว่า ทูลเกล้าฯ หรือ น้อมเกล้าฯ ถวาย

“ทูลเกล้าฯ ถวาย” หรือ “ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย” และ “น้อมเกล้าฯ ถวาย” หรือ “น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย” เป็นราชาศัพท์แปลว่า “มอบให้” ใช้สำหรับการถวายสิ่งของ

  • หากเป็นสิ่งของที่มีขนาดเล็ก มีน้ำหนักเบา สามารถยกได้ เช่น ช่อดอกไม้ หนังสือ กระเป๋าสาน ใช้คำว่า “ทูลเกล้าฯ ถวาย”
  • หากเป็นสิ่งของที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักเยอะ ไม่สามารถยกได้ เช่น อาคาร ที่ดิน รถยนต์ ใช้คำว่า “น้อมเกล้าฯ ถวาย”

คำราชาศัพท์ ติวเตอร์จุฬา

3. การใช้คำว่า พระบรมฉายาลักษณ์/ พระฉายาลักษณ์ และ พระบรมสาทิสลักษณ์/ พระสาทิสลักษณ์

  • พระบรมฉายาลักษณ์/ พระฉายาลักษณ์ คือ รูปถ่าย หรือ ภาพถ่าย สังเกตคำว่า “ฉาย” คือ การถ่าย นั่นเอง
  • พระบรมสาทิสลักษณ์/ พระสาทิสลักษณ์ คือ รูปเขียน หรือ ภาพวาด สังเกตคำว่า “สาทิส” คล้าย “สาธิต”

4. การใช้คำว่า พระราชอาคันตุกะ หรือ อาคันตุกะ

ทั้ง “พระราชอาคันตุกะ” และ “อาคันตุกะ” ต่างเป็นคำนาม ที่มีความหมายว่า แขกผู้มาเยือน เพราะหลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า 2 คำนี้เหมือนกัน หรือ แตกต่างกันอย่างไร และคำไหนถูก คำไหนผิด

  • เราจะใช้ราชาศัพท์ว่า “พระราชอาคันตุกะ” เมื่อ แขกผู้มาหา ทั้งที่เป็นกษัตริย์ หรือ เจ้านายของต่างประเทศ หรือ ผู้นำประเทศที่เป็นสามัญชน เช่น ประธานาธิบดี มาเป็นแขกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • ในทางตรงกันข้าม หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราเสด็จพระราชดำเนิน ทรงไปเป็นแขกของผู้นำประเทศที่เป็นสามัญชน เราจะใช้คำว่า “อาคันตุกะ” เช่น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นอาคันตุกะของประธานาธิบดีแห่งประเทศนั้น ๆ”

5. การใช้คำว่า หมายกำหนดการ หรือ กำหนดการ

หมายกำหนดการ คือ เอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีที่จะต้องอ้างพระบรมราชโองการ
กำหนดการ คือ ระเบียบการที่บอกถึงขั้นตอนของงานที่จะต้องทำตามลำดับ

ดังนั้นคำว่า “หมายกำหนดการ” จึงเป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธี และ เอกสารนั้นจะต้องอ้างพระบรมราชโองการ เช่น หมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น
ส่วนคำว่า “กำหนดการ” ใช้เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานทั่ว ๆ ไปที่ทางราชการ หรือ ส่วนเอกชนจัดขึ้น เช่น กำหนดการกิจกรรมวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น

ทาง ChulaGradeupTutor หวังเป็นอย่างยิ่งว่า น้อง ๆ คงจะได้ประโยชน์จากเทคนิคทั้ง 5 ข้อข้างต้นไม่มากก็น้อย ซึ่งหากน้อง ๆ มีเทคนิคดี ๆ อื่น ๆ เพิ่มเติมสามารถ Comment เพื่อแบ่งปันให้กับเพื่อน ๆ ได้ที่ด้านล่างเลย หากต้องการอ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม คลิกที่นี่

FB Fanpage : @Chulagradeup หรือ @ChulaGradeupTutor เท่านั้น

Scroll to top