เตรียมสอบ 9 วิชาสามัญ ติวเตอร์จุฬา

เตรียมสอบ 9 วิชาสามัญ (สำหรับเตรียมสอบหมอ)

ความฝันของน้อง ๆ หลาย ๆ คนที่อยากเป็นหมอ สิ่งที่น้อง ๆ จะต้องเตรียมตัวสอบกันนั่นก็คือ การเตรียมตัวสอบ 9 วิชาสามัญ ดังนั้นทีม ChulaGradeupTutor จะมาแนะนำแนวทางให้น้อง ๆ เกี่ยวกับการเตรียมตัวสอบ 9 วิชา (จริง ๆ สอบแค่ 7 วิชาสำหรับหมอ) จุดที่ควรเน้นคือตรงไหน และระวังที่จุดไหน ในช่วงเวลาใกล้สอบเช่นนี้แล้ว ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างนั้น ตามมาดูกันได้เลย…

เตรียมสอบ 9 วิชาสามัญ (สำหรับเตรียมสอบหมอ)

คณิตศาสตร์ : คิดเป็น 20 %

ความยากของข้อสอบ 9 วิชาสามัญ อาจจะไม่เท่าการสอบ PAT 1 แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังในการทำ คือ ต้องมีสติ และ อย่าสะเพร่า เพราะมันอาจมีกับดักซ่อนอยู่ในโจทย์ ดังนั้น พยายามอ่านโจทย์ดี ๆ ว่าโจทย์ถามอะไร และ คิดเลขดี ๆ ถ้าเป็นไปได้ฝึกคิดเลขให้คล่อง ๆ ไว้เพื่อที่เวลาทำข้อสอบจะได้เสร็จเร็ว ๆ และ มีเวลากลับมาทวนซ้ำป้องกันการผิดพลาด
ส่วนเรื่องที่ออกข้อสอบเยอะ ๆ และ มักออกบ่อย ๆ คือ สถิติ ความน่าจะเป็น อนุกรม แคลคูลัส และ log ให้อ่านเน้น ๆ เยอะ ๆ เป็นพิเศษเลย ส่วนบทเซต ตรรกศาสตร์ ออกน้อยอาจจะเอาไว้อ่านทีหลังได้ถ้าอ่านไม่ทันจริง ๆ

วิทยาศาสตร์ : คิดเป็น 40% (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ)

  • ฟิสิกส์ : เป็นวิชาน้อง ๆ จำนวนมากไม่ชอบ ไม่เข้าใจ และมักจะบอกว่ายาก ซึ่งฟิสิกส์ในข้อสอบ 9 วิชาสามัญนั้น ในปีหลัง ๆ มานี้ ข้อสอบจะออกมาเพื่อวัดความเข้าใจมากขึ้น คือไม่เน้นการคำนวณ เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งบางคนก็ชอบ เพราะไม่ต้องคิดเลข แต่บางคนก็อาจจะไม่ชอบ เพราะถนัดแทนสูตรแล้วตอบ

คำแนะนำ คือ ใครที่เรียนฟิสิกส์แบบแทนสูตรแล้วตอบให้รีบกลับไปอ่านใหม่อย่ารวดเร็ว และทำความเข้าใจที่มาของสูตร และ การใช้สูตรให้ดี ๆ เพราะถ้าหวังจะแทนสูตรแล้วตอบน่าจะเป็นไปได้ยาก อีกข้อหนึ่งที่ทำให้ผิดกันบ่อย ๆ คือไม่ดูค่าตัวแปรที่โจทย์กำหนดมาให้ เช่น g = 9.8 หรือ 10 ซึ่งจะทำให้ได้คำตอบผิด เสียคะแนนไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น อ่านค่าตัวแปรที่โจทย์กำหนดมาก่อนทำโจทย์ด้วยนะ

  • เคมี : ความยาก ของวิชาเคมี 9 วิชาสามัญนั้นถือว่าไม่ยากมากเท่าไหร่ อีกทั้งยังมีจำนวนข้อที่ถือว่าไม่เยอะเมื่อเทียบกับชีวะ จึงเป็นข้อสอบส่วนที่น้อง ๆ ควรเก็บคะแนนให้ได้ดี ๆ เพราะเก็บคะแนนไม่ยาก บทที่ออกข้อสอบเยอะของแต่ละปีมักจะไม่ซ้ำกันเท่าไหร่ ดังนั้น การเก็งเรื่องที่ออกเยอะ ๆ ค่อนข้างยาก

คำแนะนำ คือ ทำโจทย์เยอะ ๆ โจทย์ PAT หรือ 7 วิชาสามัญปีเก่า ๆ ทำเยอะ ๆ ได้ก็ดี เพราะความยากของข้อสอบไม่หนีกับข้อสอบเก่าเท่าไหร่ ข้อแนะนำอีกอย่าง คือ อย่าทิ้งบทเล็ก ๆ เช่น โพลีเมอร์ การถลุงแร่ แม้บทพวกนี้จะออกข้อสอบน้อยแต่ถ้าออกมาเราจะเก็บคะแนนได้ง่ายมาก

  • ชีวะ : เป็นข้อสอบที่มีจำนวนข้อเยอะที่สุดใน 3 วิชา ดังนั้น การทำข้อสอบชีวะจะต้อง speed test คือ ต้องรีบทำแข่งกับเวลา ส่วนความยากของข้อสอบชีวะนั้น ไม่ได้ออกยากมากมายอยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องใช้การวิเคราะห์เข้ามาช่วยในการทำข้อสอบด้วย บางข้ออาจจะถามเรื่องที่เราคิดว่าง่าย ๆ ให้ดูยากไปเลยละถ้าน้องคิดไม่เป็น

คำแนะนำ คือ ไม่ต้องอ่านเนื้อหาละเอียดมาก เพราะข้อสอบออกไม่ลึก แต่อ่านให้เข้าใจถึงเหตุผลของเนื้อหาต่าง ๆ เพื่อที่จะได้นำมาประยุกต์ใช้ได้ และในห้องสอบข้อไหนทำไม่ได้ให้ข้ามไปก่อนแล้วค่อยกลับมาทำใหม่ แล้วถ้ามีเวลาเหลือค่อยกลับมาทำ

ฝึกทำแบบฝึกหัด และข้อสอบย้อนหลัง

ภาษาอังกฤษ : คิดเป็น 20 %

ข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษนั้น เน้นคิดเร็วทำเร็ว ดังนั้น ต้องทำแข่งกับเวลาดี ๆ ซึ่งข้อสอบภาษาอังกฤษนั้น จะพยายามวัดทุก skill ของน้อง ๆ ข้อสอบสามารถออกได้หลากหลายเพื่อวัดทักษะทางภาษาอังกฤษทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น listening , speaking , reading , writing

  • Listening/Speaking ข้อสอบจะออกมาในรูปแบบของ conversation ที่อาจจะให้เติมคำตอบที่เหมาะสม ในสถานการณ์ต่าง ๆ

คำแนะนำ คือ การทำข้อสอบส่วนนี้ดูเรื่องสำนวน (idioms) ดี ๆ เพราะน้อง ๆ หลายคนมักไม่แม่น ส่วน conversation แบบอื่นโดยส่วนมากไม่มีปัญหากันเท่าไหร่อยู่แล้ว ดังนั้นอ่านสำนวนไปเยอะ ๆ นะได้ก็ดีนะ

  • Reading ข้อสอบจะมี บทความหลายบทความให้น้อง ๆ ได้อ่าน และ ตอบคำถาม

คำแนะนำ คือ ให้อ่านโจทย์ก่อนอ่านบทความ เพื่อที่เวลาเราอ่านบทความจะได้สแกนหาข้อมูลที่โจทย์ถามได้อย่างรวดเร็วเลย และ คำตอบที่โจทย์ถาม มักจะเรียงกันในบทความอยู่แล้วเช่น คำถามข้อที่ 1 มักจะมีคำตอบอยู่ตอนต้นของบทความ ส่วนคำถามข้อหลัง ๆ ก็มักจะมีคำตอบอยู่ช่วงท้าย ๆ บทความ ดังนั้นสแกนให้ถูกจุด สแกนให้เร็วนะ

  • Writing ข้อสอบพาร์ทนี้นั้นจะเป็น cloze test ซะส่วนใหญ่

คำแนะนำ คือ น้องต้องแม่นแกรมม่า Grammar หน่อย หลักแกรมม่าที่ออกข้อสอบบ่อย ๆ ก็เช่น subject & verb agreement (ถ้าประธานเป็นเอกพจน์ กริยาต้องมี s) Word form (ตรงไหนต้องใช้ adjective adverb หรือ noun)เป็นต้น

ภาษาไทย และสังคม : วิชาละ 10 % (รวมเป็น 20%)

2 วิชานี้ส่วนมากน้อง ๆ จะทำไม่ค่อยได้ เพราะเด็กที่สอบส่วนใหญ่เป็นเด็กสายวิทย์ จึงไม่ค่อยถนัด 2 วิชานี้สักเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตามหลาย ๆ ครั้งคะแนนของ 2 วิชานี้ก็ช่วยให้น้องสอบติดได้เลยนะ ถ้าวิชาอื่น ๆ น้องไม่ได้โดดเด่นเท่าไหร่

  • ภาษาไทย ข้อสอบวิชานี้ไม่เน้นออกหลักภาษาเท่าไหร่นัก จะมีข้อสอบหลักภาษาอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ ๆ จะเป็นการวิเคราะห์มากกว่า เช่น การตีความจากบทความ การตีความจากกลอน หรือการตีความจากความหมายของผู้พูด ดังนั้นอ่านหลักภาษาไปบ้าง รวมกับทักษะทางด้านการตีความ เชื่อว่าน้อง ๆ จะสามารถทำวิชานี้ได้แน่นอน
  • สังคม ข้อสอบวิชานี้นั้นออกได้หลากหลายอย่างมาก เนื้อหาครอบจักรวาลสุด ๆ จนไม่รู้จะแนะนำอย่างไร เอาเป็นว่าน้อง ๆ ไปตามอ่านข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวทั้งข่าวสังคมทั่วไป ข่าวในพระราขสำนัก ข่าวของประเทศอื่น ๆ ตามเหตุการณ์บ้านเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี เยอะ ๆ ก็น่าจะสามารถทำวิชานี้ได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้น ในการเตรียมสอบ 9 วิชาสามัญ สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเป็นหมอ ถ้าเป็นไปได้ อย่าทิ้งวิชาใดวิชาหนึ่งมากเกินไป เพราะทุกวิชาต้องไม่ต่ำกว่า 30% ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิโดยอัตโนมัติ ก็คงน่าเสียดายถ้าถูกตัดสิทธิด้วยเหตุผลนี้ หากนน้อง ๆ ต้องการบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม คลิกที่นี่

FB Fanpage คลิกเลย : @Chulagradeup หรือ @ChulaGradeupTutor เท่านั้น

Line ID : https://line.me/R/ti/p/%40wud8208i

Scroll to top